เบรก ไม่ใช่แค่เหยียบ
ระบบเบรก เป็นระบบที่ช่วยป้องกันการชน และหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุต่างๆ แต่ก็อย่างที่รู้ๆ กันว่า การมีระบบเบรกที่ดีเพียงอย่างเดียวไม่ได้หมายความว่า จะป้องกันการเกิดอุบัติเหตุได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะการจะหยุดรถได้ทัน หรือ ควบคุมให้รถหยุดก่อนถึงวัตถุที่กีดขวางอยู่นั้น ขึ้นอยู่กับความเร็วของรถ และ จุดของเวลาที่เหยียบเบรกด้วย เท่านั้น ยังไม่พอ วิธีการเหยียบเบรกที่ถูกต้องก็จะช่วยให้หยุดรถได้อย่างปลอดภัยด้วย
เพราะฉะนั้น ในคราวนี้เราจะมาคุยกันถึงเทคนิคการเหยียบเบรกกันครับ
การจะทำให้รถหยุดนั้น ประกอบด้วยสามขั้นตอน คือ
1. สมองของผู้ขับรถจะต้องรับรู้ว่าสถานการณ์นี้จำเป็นต้องเหยียบเบรก ซึ่งขั้นตอนนี้ ถ้าเป็นมือใหม่จะใช้เวลามากกว่าผู้ขับรถที่มีประสบการณ์ มือใหม่ยังขาดประสบการณ์ที่จะรับรู้ว่ารถคันหน้าชะลอความเร็วลง ผู้ขับรถที่มีสมาธิดีอาจใช้เวลาตัดสินใจใน ¾ วินาที แต่มือใหม่อาจใช้เวลาถึง 2 วินาที
2. การขยับเท้าเพื่อให้อยู่ในตำแหน่งที่จะเหยียบคันเบรก ซึ่งต้องเลื่อนเท้าจากคันเร่งไปที่คันเบรก ผู้ขับรถทั่วๆ ไปจะใช้เวลาประมาณ ¾ วินาที
3. การเหยียบคันเบรก
และในระหว่างที่ผู้ขับรถใช้เวลาตัดสินใจที่จะเหยียบเบรกและ ขยับเท้าไปที่คันเบรกนั้น รถก็ยังแล่นต่อไปเรื่อยๆ ที่ความเร็วคงเดิมสู่รถคันหน้า หรือสิ่งกีดขวางที่อยู่ด้านหน้า ตารางด้านล่างจะชี้ให้เห็นว่ารถแล่นไปได้ไกลแค่ไหนในช่วงเวลาที่ตัดสินใจเหยียบเบรก ไปจนถึงการเหยียบเบรก

1. ประมาณเวลาตอบสนอง ที่ 1.25 วินาที
2. ประมาณเวลาที่เท้าไปแตะคันเบรกที่ 0.75 วินาที
3. อ้างอิงจาก Vehicle Stopping Distance Calculator จาก CSGNetwork.com ด้วยสัมประสิทธิ์ของความเสียดทาน ที่ 0.7
*1ไมล์/วินาที =1.4666 ฟุต ต่อวินาที
ทีนี้ก็มาดูกันต่อว่า เทคนิคการเหยียบเบรกนั้นมีอย่างไรบ้าง
การเบรกนั้น เราทำเพื่อวัตถุประสงค์ 2 อย่าง คือ
- เพื่อลดความเร็วของรถลง
- เพื่อหยุดรถ
ก่อนเหยียบเบรกแต่ละครั้งต้องประเมินสถานการณ์ทั้งด้านหน้ารถ และ หลังรถเสียก่อน เพื่อจะประมาณว่าจะลงน้ำหนักเหยียบเบรกแรงแค่ไหนเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่
ในกรณีเบรกเพื่อลดความเร็วลง น้ำหนักในการเหยียบเบรกต้องสัมพันธ์กับความเร็วของรถที่กำลังแล่นอยู่ทั้งด้านหน้า ด้านหลัง และด้านข้างของรถเรา ไม่ควรเหยียบเบรกจนความเร็วลดลงมากเกินไป เพราะจะทำให้เสียทั้งเวลา และ เชื้อเพลิงในการเร่งความเร็วกลับขึ้นมาอีกครั้ง สำหรับรถที่ใช้เกียร์กระปุก เมื่อต้องการลดความเร็วในขณะวิ่งทางเรียบให้เหยียบเบรกลงอย่างเดียว โดยไม่ต้องเปลี่ยนเกียร์ให้ต่ำลง เพราะช่วยในการเบรกได้ไม่มาก แต่กลับทำให้เสียสมาธิในการเบรก รถจะมีการถ่ายน้ำหนักหน้า-หลัง ทำให้รถกระดกไปมา และ ทำให้ระบบเกียร์ และ เครื่องยนต์สึกหรอได้มากขึ้น
การเบรกเพื่อหยุดรถนั้น ยังแบ่งออกเป็นการเบรกเพื่อหยุดในสถานการณ์ปกติการเบรกในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ คับขัน และการเบรกเพื่อจอดรถ มาดูกันทีละอย่างนะครับ
.
เมื่อต้องการเบรกเพื่อหยุดในสภาพการณ์ปกติ ควรแตะเบรกล่วงหน้าเพื่อเป็นการเตือนให้รถคันหลังรู้ตัว ก่อนเบรกควรเหลือบดูรถคันที่ตามมาว่า เขาน่าจะเบรกทันหรือไม่ ถ้าคะเนดูแล้วว่าเขาจะเบรกไม่ทัน ก็ให้แตะเบรคเบาๆ เพื่อหยุดรถให้ชิดคันหน้าอีกสักหน่อย เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกชนท้าย แต่ไม่ควรแล่นรถจนเข้าไปใกล้คันหน้าแล้วเหยียบเบรกอย่างแรงเพราะจะทำให้รถเสียการทรงตัว และรถคันหลังอาจเบรกไม่ทัน และชนท้ายได้ รวมทั้งไม่ควรเบรกพร้อมกับเปลี่ยนช่องจราจร หรือ เปลี่ยนช่องจราจร แล้วเบรคทันที เพราะจะทำให้ถูกชนท้ายได้ง่ายเช่นกัน
การเบรกในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ คับขัน สถานการณ์เช่นนี้คุณต้องการการหยุดรถให้ได้ในระยะทางสั้น และปลอดภัย จึงให้เบรกจนล้อเกือบล็อก ถ้ารถของคุณมีระบบเอบีเอส (ซึ่งเป็นระบบป้องกันล้อล็อก) ก็ให้เหยียบเบรกแช่ไว้อย่าถอนเท้าออกมา เพราะคุณอาจจะตกใจที่รู้สึกกระตุกที่คันเบรคถี่ๆ และรถส่งเสียงดังของโลหะกระทบกัน เพราะนั่นหมายความว่าระบบเอบีเอสกำลังทำงานให้คุณ สำหรับรถที่ไม่มีระบบเอบีเอส คุณสามารถเหยียบเบรคซ้ำๆ หรือย้ำเบรกเพื่อแก้ปัญหาล้อล็อกได้ เพราะการที่ล้อล็อกทำให้คุณไม่สามารถบังคับพวงมาลัยได้ ทางที่ดีควรสร้างความคุ้นเคยกับการเบรคในสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วยการหาถนนที่ว่างๆ แล้วทดลองเบรกดู เพื่อให้รู้ว่าจะต้องเหยียบเบรกแรงแค่ไหนล้อถึงจะล็อก หรือ เอบีเอสทำงาน และในสถานการณ์เช่นนั้น รถมีปฏิกิริยาอย่างไร หากไปตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินจริงๆ จะได้ไม่ตกใจ
และสุดท้าย การเบรกเพื่อจอด ในรถเกียร์กระปุกไม่ต้องไปกังวลว่าตอนที่จอดรถจะอยู่ที่เกียร์ไหน แล้วเหยียบคันเบรกโดยไม่ต้องเปลี่ยนเกียร์ ไม่ต้องแตะคลัชท์ เมื่อรถหยุดสนิทแล้วจึงค่อยเหยียบคลัชท์ลงไปให้สุด เมื่อรถหยุดสนิทแล้วจึงค่อยเปลี่ยนไปที่เกียร์ว่าง ส่วนรถเกียร์อัตโนมัติให้เหยียบเบรกอย่างเดียว ไม่ต้องเลื่อนคันเกียร์ และไม่ต้องเปลี่ยนเป็นเกียร์ว่าง เพราะทำให้รถมีแรงเฉื่อยมากขึ้น และไม่เป็นผลดีต่อเกียร์ครับ
เอาล่ะครับ น่าจะพอเข้าใจกันแล้ว ถ้าอย่างนั้น ผมลาก่อนนะคร๊าบ
ที่มา ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก
www.Narak.com www.manuallock.com www.cycle-road.com เรียบเรียงโดย ชรินทร์พร ธนศุภานุเวช
http://www.driversedguru.com/drivers-ed-training-exercises/stage-2/stage-2-understanding-braking/
|