ขับเร็วแค่ไหนที่ถือว่าปลอดภัย

ในบทความที่แล้ว ผมได้เปรียบเทียบสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ในประเทศไทย อเมริกา และ อังกฤษ ซึ่งในอเมริกา และไทยนั้น มาจากสาเหตุคล้ายกัน คือ ขับรถด้วยความเร็วสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ส่วน ในประเทศอังกฤษสาเหตุอันดับแรก คือ การไม่มองให้ถี่ถ้วน

ในตอนนี้เรากลับมาโฟกัสกันที่บ้านเราดีกว่านะครับว่า ในเมื่อความเร็วสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุแล้ว เรารู้ไหมว่า ความเร็วที่ปลอดภัยในการขับขี่ยานพาหนะที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ ที่ระดับความเร็วเท่าไร

แน่นอนว่า อัตราความเร็วสำหรับถนนประเภทต่างๆ นั้น ต้องแตกต่างกันอยู่แล้วประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง รถประเภทต่างๆ ถึงแม้จะแล่นอยู่บนถนนเดียวกัน แต่ก็มีการกำหนดอัตราความเร็วไว้แตกต่างกันด้วย ลักษณะอากาศก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนกำหนดอัตราความเร็วที่ปลอดภัย

ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจกันหน่อยว่า ความเร็วในระดับที่ว่าปลอดภัย นั้น คืออย่างไร

ความเร็วที่ปลอดภัยคือความเร็วที่เหมาะสมกับสภาพถนน สภาพอากาศ สภาพการจราจร ซึ่งเป็นความเร็วที่ไม่ก่ออันตรายแก่ผู้อื่น หากขับรถด้วยความเร็วที่ปลอดภัยแล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะต้องไม่มีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต”

ประเทศต่างๆ ก็ได้นำค่าความเร็วที่ทำให้ขับขี่ได้อย่างปลอดภัยนี้ไปกำหนดเป็นอัตราความเร็วตามกฎหมายของตน หรือ อัตราความเร็วตามกฎหมายนี้ อาจเรียกว่าเป็น “ความเร็วจำกัด” ก็ได้

ความเร็วจำกัด คือ “ความเร็วที่คำนึงถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดบนท้องถนน ปริมาณของรถยนต์และคนเดินเท้า ระยะห่างระหว่างสี่แยก ความพร้อมของสิ่งอำนวยความปลอดภัย และสภาพบ้านเรือนสองข้างทาง  โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนน ป้องกันมลภาวะของเสียงและแรงสั่นสะเทือน สามารถทำให้การจราจรเป็นไปอย่างราบรื่น”

จะเห็นว่าในการขับรถนั้น ไม่ใช่มีแค่รถเรากับรถเขาเท่านั้นที่เราต้องคำนึงถึง และที่สำคัญ ความเร็วจำกัดที่ระบุไว้ตามเส้นทางต่างๆ นั้น ก็ยังต้องคำนึงถึงตัวแปรอื่นๆ ของสถานการณ์ในช่วงที่คุณขับรถผ่านไปบนถนนสายนั้นๆ ด้วย เช่น ถนนในต่างจังหวัดบางแห่งอาจระบุความเร็วจำกัดไว้ที่ระดับหนึ่ง แต่หากละแวกนั้นมีการจัดตลาดนัด หรือ ขบวนแห่นาค หรือ กิจกรรมใดก็แล้วแต่ที่ทำให้เกิดความพลุกพล่านขึ้นบนถนนสายนั้น เราก็ควรจะลดความเร็วลง อย่าเป็นเถรตรงเสียล่ะครับ

สภาพอากาศก็เช่นกัน ในภาวะที่ฝนตก หรือ ในช่วงปลายปีอย่างนี้ พื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศอาจมีหมอกลงจัด การขับรถให้ปลอดภัยก็ต้องใช้ความเร็วที่จะทำให้ขับรถได้อย่างปลอดภัยด้วยเช่นกัน

เราพูดถึงฝนกันก่อน หลังฝนตกใหม่ๆ ถนนจะลื่นมาก หากผู้ขับรถเบรกรถกระทันหันอาจทำให้รถเสียหลักไถลออกไปนอกเส้นทาง หรือ ชนเข้ากับรถคันหน้า ในเหตุการณ์ที่รุนแรงภาวะนี้อาจทำให้รถถึงกับพลิกคว่ำได้ ดังนั้น แน่นอน เมื่อทัศนวิสัยไม่ดี ต้องลดความเร็วลง โดยไม่ควรเบรก หรือ หักหลบอย่างกระทันหัน ห้ามเร่งความเร็ว หรือ ลดความเร็วอย่างกระทันหัน แต่ให้ใช้ความเร็วที่สม่ำเสมอ ทิ้งระยะห่างจากคันหน้าพอที่จะเบรครถได้อย่างปลอดภัย ซึ่งการเบรกอย่างปลอดภัยนี้ผมจะหาข้อมูลมาแชร์กันโดยเฉพาะเลย คอยติดตามอ่านกันนะครับ

ส่วนในภาวะที่หมอกลงจัดจนเห็นทางข้างหน้าได้ไม่เกินแสงไฟที่ส่องถึงก็ไม่ควรขับรถด้วยความเร็วเกิน 50 ก.ม. ต่อ ชั่วโมงครับ

อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ คือ ขับรถตามหลังในระยะกระชั้นชิด นี่หมายความว่า มีระยะห่างระหว่างรถของเรากับรถคันหน้าที่ปลอดภัยด้วย ระยะห่างนี้ต้องไม่ต่ำกว่าระยะหยุดที่ปลอดภัยของรถคันที่เรากำลังขับอยู่ ซึ่งในสภาพปกติ ก็เท่ากับห่างกันประมาณ 2 วินาที แล้วเราจะกะระยะนี้ได้อย่างไร

ผู้รู้ท่านว่า ให้หาจุดบนถนนที่รถจะผ่าน เมื่อรถคันหน้าผ่านจุดนั้น ให้เริ่มนับ “หนึ่งพันหนึ่ง” และพอเรานับต่อที่ “หนึ่งพันสอง” แล้วรถของเราผ่านจุดนั้นพอดี ก็ให้ถือว่าระยะห่างนี้ คือ ระยะห่างจากคันหน้าที่ 2 วินาที ครับ แต่หากเป็นสถานการณ์ที่ฝนตก หรือ หมอกลงจัด ระยะห่างที่ปลอดภัยนี้ก็ต้องมากขึ้นกว่าในภาวะปกติด้วยเช่นกันนะครับ

ในคราวหน้า ผมจะมาแชร์ต่อถึงการขับให้ปลอดภัยในเวลากลางคืนนะครับ

ที่มา
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จากกรมการขนส่งทางบก และ
บทความของ คุณ ชรินทร์พร ธนศุภานุเวชที่เรียบเรียงขึ้นจากข้อมูลในเว็บไซต์ www.thai rural community.com  www.geocities.wis www.tarc.ait.ac.th