ลักษณะการสึกของยางบอกอะไรกับเรา

คราวที่แล้วได้ชวนถอดรหัสยาง รวมถึงการตรวจสอบสภาพยางว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยนยางเส้นใหม่แล้วหรือยังในคราวนี้ก็อยากจะบอกเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่ทำให้เราต้องเปลี่ยนยางนั้นไม่ได้มีแค่เมื่อดอกยางสึกเท่านั้น แต่เมื่อยางเสื่อมสภาพ หรือ ได้รับความเสียหายในระดับที่จะเป็นอันตรายต่อการขับขี่ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนยางเส้นใหม่อย่างเร่งด่วนด้วยเช่นกัน ส่วนการสึกของดอกยางนั้นก็ไม่ได้มาจากการขับขี่ในแต่ละวันเพียงอย่างเดียว แต่ปริมาณลมที่เติมในยาง การตั้งศูนย์ หรือ ถ่วงล้อ ที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งพฤติกรรมการขับขี่ ก็มีส่วนทำให้ยางสึกได้ ซึ่งจะสึกในลักษณะที่แตกต่างกันไป ดังนั้นหากเรารูว่าลักษณะการสึกนั้นๆ มาจากสาเหตุใดแล้ว ก็จะช่วยให้แก้ปัญหาได้ถูกจุด และการตรวจสอบลักษณะการสึกของยางอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะก่อนและหลังการใช้รถเดินทางในระยะไกล ก็จะช่วยให้แก้ปัญหาได้ทันท่วงที

ด้านล่างเป็นวิธีสังเกตที่นำมาจากหลายเว็บไซต์ตามที่ระบุไว้ตอนท้ายของบทความ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นประโยชน์มาก เลยเอามาฝากกันนะครับ

1. ดอกยางสึกด้านเดียว เกิดจากตั้งศูนย์ล้อไม่ดี วิธีแก้ก็ตรงไปตรงมา คือ ตั้งศูนย์ล้อใหม่

 

2. ดอกยางสึกตรงกลาง สาเหตุมาจาก เติมลมยางมากเกินไป ก็ปล่อยลมออกให้อยู่ในระดับที่ระบุไว้ในคู่มือรถ

 

3. ดอกยางสึกทั้งสองด้าน สาเหตุจากเติมลมยางไม่พอ ก็เติมลมให้พอเหมาะ ซึ่งมักระบุไว้ในคู่มือประจำรถ และตรวจหารอยรั่วด้วย

 

4. ดอกยางสึกไม่สม่ำเสมอ โดยมีการสึกเป็นจ้ำๆ ที่เรียกว่าสึกแบบ cup มาจากภาวะล้อไม่สมดุลย์ และตั้งศูนย์ไม่ดี จึงควรตั้งศูนย์ถ่วงล้อเสียใหม่

 

5. สึกแบบฟันเลื่อย  สาเหตุมาจากค่าของการ toe-in หรือ toe-out ไม่ถูกต้อง ควรหาช่างดีๆ ที่มีประสบการณ์ และอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพแก้ปัญหาให้

ด้านล่างเป็นภาพที่แสดงให้เห็นว่า ลักษณที่ล้อ Toe-in หรือ toe-out ครับ

 

6. สึกแต่ขอบยางหน้าเท่านั้น อาการนี้มาจากพฤติกรรมการขับขี่ครับ คือ เข้าโค้งเร็วเกินไป วิธีแก้ง่ายมาก คือ ขับให้ช้าลงเท่านั้นเอง....ฮา


7. มีเสียงแปลกๆ เช่นเอี๊ยดๆ เสียงกระแทก สาเหตุอาจมาจากหลายกรณี ตั้งแต่ตั้งศูนย์ไม่ดี ยางสึกแล้ว หรือ shock absorbers ซึ่งเรียกในภาษาไทยว่า โช้คอัพเสียแล้ว วิธีแก้ก็ตรงตามอาการเลยครับ ตั้งศูนย์ใหม่ เปลี่ยนยาง หรือ โช้คอัพใหม่ครับ

เอาล่ะครับ ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นข้อมูลที่ช่วยให้คุณรู้จักยาง รู้ปัญหา ตลอดจนวิธีการแก้ไข ได้ดีขึ้นนะครับ

 

ขอบคุณแหล่งข้อมูล และ รูปภาพจาก
http://www.dummies.com/how-to/content/checking-your-tires-for-wear.html
http://www.goodyear.co.th/labs/education_tyretread.asp#p02
https://www.kaltire.com/whats-causing-your-uneven-tire-wear/
http://www.freeautomechanic.com/tirealignment.html
http://www.quicklanemurfreesboro.com/tires/identifying-signs-of-tire-wear/